Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว
  • คนฉลาดชอบทำเรื่องง่าย แต่ผมชอบทำเรื่องยาก ยากแบบมีอนาคต ยิ่งไม่รู้ ยิ่งต้องศึกษา
  • “เสี่ยง 30 ชนะ 70 ถ้าความเสี่ยงนั้นไม่ทำให้เราล้มละลาย ผมพร้อมจะเสี่ยง”
  • วิกฤติกับโอกาสเป็นของคู่กัน: ก่อนวิกฤติอย่าเหลิง เจอวิกฤติอย่าท้อและอย่าตาย เลือกทิ้งบางอย่าง รักษาส่วนสำคัญให้รอด
  • ซีพีไม่ได้ผูกขาด แต่ทำก่อน เหมือนขึ้นเวทีต่อยมวยคนเดียว สะดุดขาล้มไปนับ 10 ตื่นขึ้นมาก็เป็นแชมป์ เพราะไม่มีคู่ต่อย
  • การทำงานคือการไปเที่ยว แต่ทำงานแล้วต้องพัก: หลักการ 8-8-8-8 (สี่แปด) กิน 80%, นอน 8 ชั่วโมง, เดิน 8,000 ก้าว, ดื่มน้ำให้ได้ 8 แก้ว และกินไข่ไก่วันละ 2 ฟอง
  • ดีใจกับความสำเร็จได้วันเดียว และให้เวลาเสียใจกับความล้มเหลวได้วันเดียวเช่นกัน

มีคนวัย 80 ปี จำนวนน้อยมากที่ยังแข็งแรง และมีจำนวนน้อยกว่า ที่นอกจากแข็งแรงแล้วยังไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองเลยสักวัน หนึ่งในนั้นคือ “เจ้าสัวธนินท์” หรือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรืออาณาจักรซีพี ซึ่งตระกูลเจียรวนนท์ยังคงเป็นตระกูลมหาเศรษฐีของไทยที่ครองความร่ำรวยเป็นอันดับ 1 ประจำปี 2562 จากการรายงานของนิตยสารฟอร์บส์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2.95 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 9.41 แสนล้านบาท

ใครๆ ก็คงอยากรู้แนวความคิดการทำธุรกิจของแม่ทัพใหญ่แห่งซีพีอย่าง “เจ้าสัวธนินท์” ไปจนถึงเรื่องการดูแลสุขภาพและการใช้ชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีโอกาสได้ฟังจากตัวเจ้าสัวเอง แต่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา “เจ้าสัวธนินท์” ได้มาร่วมพูดคุยบนเวทีทอล์กแห่งปี Exclusive Talk ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” เกี่ยวกับหนังสือเล่มแรกที่เขียนเอง “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” โดยใช้เวลาถึง 8 ปี ในการรวบรวมแนวคิดปรัชญาการทำงานกว่า 50 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องราวชีวิตไว้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 ห้อง The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี ดำเนินรายการโดย “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ที่เจ้าสัวธนินท์ได้มาพูดคุย เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าศึกษาจากชายวัย 80 ปีคนนี้อย่างยิ่ง “ทีมข่าวเวิร์คพอยท์” จึงได้นำสาระประโยชน์แบบจัดเต็มมาฝากผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้

ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว, ธนินท์ เจียรวนนท์, เจ้าสัวธนินท์, ซีพี, cp

  1. ยก “แจ็ค หม่า” เป็นอาจารย์ แต่ไม่ลงทุนกับ “อาลีบาบา”

เจ้าสัวธนินท์ ยกให้ “แจ็ค หม่า” เป็นอาจารย์ แต่เพราะไม่เข้าใจรูปแบบการทำงานของ “อาลีบาบา” จึงไม่ลงทุน

“ผมได้ฟังคนเก่งๆ อย่าง แจ็ค หม่า แห่ง อาลีบาบา ผมยกเขาเป็นอาจารย์ แต่ฟังเขาพูดแล้วผมไม่กล้าลงทุน เพราะยังไม่เข้าใจเรื่องรูปแบบ ความสำเร็จของผม หรือของซีพี คือเราต้องเห็นก่อนว่า เรื่องนี้เขาสำเร็จมายังไง เรามีโอกาสไหมที่จะเอามาต่อยอด แต่ไปคุยกับแจ็ค หม่า นี่ฟังไม่รู้เรื่อง ทั้งที่ไปเข้าคอร์สอีคอมเมิร์ซ อินเทอร์เน็ต ที่ฮ่องกง ก็ยังไม่เข้าใจ ตอนนั้นเราไปหาแจ็คหม่าเองเลย เขาไม่ได้ชวนเราลงทุน แต่เราไปหาเขาเอง เราก็รู้ว่าเทรนด์มันจะมาแบบนี้ แต่ไปฟังเขาแล้วไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่มีรูปแบบให้เห็นว่าจะเป็นยังไง เรายังชินกับว่ารูปแบบนี้สำเร็จแล้ว เราเอามาต่อยอดกับประเทศที่กำลังพัฒนา เขาบอกว่ารู้จักผมตั้งแต่เขายังเด็ก แต่ผมไม่รู้จักเขา มารู้จักตอนเขาดังแล้ว ตอนนั้นถ้าไปลงทุนกับเขาก็ได้กำไรหลายร้อยเท่านะครับ แต่ไม่กล้า มองไม่ชัด คิดไม่ออกว่าจะสำเร็จได้ยังไง แต่เขาดันมีความเชื่อมั่นของเขา ผมเชื่อมั่นว่าเขามองเห็นแล้วล่ะ แต่เรามองไม่เห็น เขามองเห็นภูเขาเป็นทองทั้งภูเขา แต่เรามองเห็นต้นไม้กับหินกับดิน ก็ยังไม่กล้าลงทุนกับเขา”

 

  1. กำเนิด “เซเว่น อีเลฟเว่น” ในเมืองไทย: ลงทุนกับสิ่งที่เห็นชัดว่าสำเร็จแน่นอน

แค่ข้อแรกก็เริ่มเห็นแนวคิดการทำธุรกิจเบื้องต้นของเจ้าสัวธนินท์กันแล้วว่า แม้ธุรกิจบางอย่างจะมีโอกาสสำเร็จสูง แต่หากไม่เข้าใจธุรกิจนั้นจริงๆ มองไม่เห็นภาพความสำเร็จ เขาจะไม่ลงทุน

สิ่งที่เหมือนกันของ “เจ้าสัวธนินท์” กับ “แจ็ค หม่า” คือ การมองเห็นภาพความสำเร็จที่ชัดเจน

เจ้าสัวธนินท์มองไม่เห็นโอกาสของอาลีบาบา แต่มองเห็นโอกาสของ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่ฝรั่งทำสำเร็จมาแล้วในอเมริกา และแม้ฝรั่งจะค้านหัวชนฝาว่าไม่ควรลงทุนในเมืองไทย แต่เจ้าสัวธนินท์คิดต่าง

“ผมเห็นว่าเขาทำสำเร็จแล้วในอเมริกา ผมก็ศึกษาแล้วว่า ถ้าเรามาทำที่เมืองไทย ผมเห็นชัดว่าผมสำเร็จแน่นอน ฝรั่งบอกเมืองไทยไม่พร้อม รายได้ประชากรน้อยกว่าอเมริกาตั้ง 10 กว่าเท่า ไม่คุ้มที่จะลงทุน แต่เคล็ดลับของผมที่เขาคาดไม่ถึงคือ เขานี่ 1 คนมาซื้อ เท่ากับเราตั้ง 15 คน มาซื้อ จำนวนเงินนะครับ รวมแล้วถึงจะได้ต่อบิลเท่ากับเขา ดูแล้วยังไงก็ไม่คุ้ม แต่เขาลืมคิดว่าค่าใช้จ่ายเราก็ถูกกว่าเขา 15 เท่าเหมือนกัน แล้วถ้าคิดเฉลี่ยจริง มองลึกลงไปอีก อาจจะ 10 คนก็พอ เราจ้างพนักงงานกับเราเปิดร้าน ต้นทุนเราถูกกว่าเขา 10 กว่าเท่าเหมือนกัน มันก็เจ๊ากัน”

 

  1. คนฉลาดชอบทำเรื่องง่าย แต่ผมชอบทำเรื่องยาก และต้องมีอนาคต

หนุ่มเมืองจันท์ถามเจ้าสัวธนินท์ว่า บางเรื่องเราก็เห็นโอกาส แต่บางเรื่องเราก็ไม่เห็น ทำไมท่านเห็นโอกาสของเซเว่น แต่ไม่เห็นโอกาสของอาลีบาบา เจ้าสัวจึงย้ำความเชื่อที่ต้องมองเห็นความสำเร็จ ต้องเห็นของจริงก่อนนำไปต่อยอด

“อาลีบาบามันไม่มีตัวตน เรามองไม่เห็น มันเป็นภาพเล่าเฉยๆ ผมยังเป็นคนล้าสมัยหน่อย คือต้องเห็นของจริงแล้วเอาไปต่อยอด ทีนี้ความสำเร็จของผมเนี่ย ทุกคนมองแล้วว่าเมืองไทยมันเป็นไปไม่ได้ ตรงนี้ถ้าผมคิดไม่เหมือนคนอื่นก็คือ อะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าผมทำสำเร็จ ก็คนอื่นไม่ได้ทำ ผมทำแต่ผู้เดียว เหมือนผมเลือกของที่ยาก คนฉลาดไม่เอาหรอกครับ คนฉลาดชอบทำอะไรที่ง่ายและสำเร็จได้ง่าย แต่ผมไม่ใช่ ผมต้องดูว่ายากที่สุด แล้วมีอนาคตไหม ถ้ายากแล้วไม่มีอนาคต ผมก็ไม่เอาเหมือนกัน แต่ถ้ายากแล้วมีอนาคต ธุรกิจตัวนี้ยิ่งใหญ่ ผมจะเข้าไป”

 

  1. กำไรน้อย ขายมาก ไม่ได้หมายถึง กำไรน้อย

กำไรมาก ขายน้อย ไม่ได้หมายถึง กำไรมาก

เจ้าสัวธนินท์ยกตัวอย่างเรื่องยากที่ทำสำเร็จ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักดั้งเดิมของซีพี นั่นคือการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในสิ่งที่ทำว่าต้องศึกษา ต้องทำเป็น ต้องรู้ให้จริง และนำเทคโนโลยีที่ว่ายากเข้ามาช่วยให้ง่าย

“อย่างเลี้ยงไก่ 1 หมื่นตัว ถ้าเป็นอเมริกาเมื่อ 50 ปีก่อน คนนึงเลี้ยงไก่ได้หมื่นตัว คนไทยเลี้ยงได้ 500 ตัว ทุกคนดูแล้วบอกเขาจบมัธยม จบมหาวิทยาลัยมาเลี้ยงไก่ เราเอาเกษตรกรมาเลี้ยงไก่ได้ยังไง เขาเลี้ยงได้หมื่นตัว เราไม่ได้หรอก ไม่มีทาง แต่ผมคิดว่า ที่ทุกคนบอกว่าไม่ได้ เราต้องศึกษาดู ถ้าเราทำสำเร็จล่ะ ก็เขาทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ก็ไปเอาอาจารย์เขามา เอาความรู้เขามา แล้วสุดท้ายเราก็ต้องรู้จริง ตัวเราเองต้องเลี้ยงไก่เป็น ผมรู้จริงว่าที่เขาสำเร็จไม่ใช่เพราะเกษตรกรคนนึงเลี้ยงได้หมื่นตัว เขามีทีมงานตั้งกี่ทีมมาช่วยเขา เขาถึงสำเร็จ เราก็มีทีมพวกเราตรงนี้อยู่แล้ว ตรงนี้แหละที่ผมจึงทำสำเร็จ เมื่อ 50 กว่าปีก่อน เกษตรกรคนนึงเลี้ยงไก่ได้หมื่นตัว ตัวนึงกำไร 20 บาท ถ้าเลี้ยง 100 ตัว เดือนนึงได้กำไร 1,000 บาท ถ้าเลี้ยงหมื่นตัวได้ 30,000 บาท กำไรตัวละ 3 บาทก็พอ ไม่ต้องถึง 20 บาท คนจนก็ถึงจะมีโอกาสได้ซื้อไก่ไปกิน คนส่วนใหญ่ถึงจะมีโอกาส ตอนนั้นส่งไปญี่ปุ่นได้ด้วย เพราะต้นทุนถูกและคุณภาพสูง

กำไรน้อย ขายมาก ไม่ได้หมายถึงกำไรน้อย, กำไรมาก ขายน้อย ไม่ได้หมายความว่ากำไรมาก, กำไรน้อย ขายมาก คือกำไรมาก, กำไรมาก ขายน้อย คือกำไรน้อย หมายถึง ไก่แต่ละตัวกำไรไม่เยอะ แต่จำนวนมันเยอะ

แล้วคนไม่เข้าใจว่าตาสีตาสาจะไปใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้ยังไง นี่เข้าใจผิด ผู้ผลิตเทคโนโลยีคือยาก แต่ผู้ใช้เนี่ยมันง่าย ต้องเข้าใจตรงนี้ว่าเราไม่ได้ไปผลิตเทคโนโลยี แต่เราเอาความรู้ เอาประสบการณ์ที่เขาสำเร็จ ที่เขามาถ่ายทอดให้ทำตาม แล้วไม่ใช่เกษตรกรทำทุกเรื่อง เรื่องที่ยากบริษัทใหญ่เป็นคนทำ เรื่องที่ง่ายเกษตรกรเป็นคนทำ เช่น เรื่องไก่หมื่นตัว การทำวัคซีนเนี่ยเกษตรกรไม่ต้องทำ เรามีทีมงานโดยเฉพาะ ถ้าให้เกษตรกรทำเองนี่ไม่มีทาง กว่าจะจับเสร็จคงทั้งคืน คนก็เหนื่อย ไก่ก็เหนื่อย เรามีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำ ทำความสะอาดให้ด้วย เอาขี้ไก่ไปขายให้ด้วย นี่เป็นหน้าที่เรา ความสำเร็จอยู่ตรงนี้มากกว่า เพราะเราพร้อมทุกขั้นตอน ครบวงจร

ผมเคยพูดว่า “กำไรมาก ขายน้อย ไม่ได้หมายความว่ากำไรมาก”, “กำไรน้อย ขายมาก ไม่ได้หมายความว่ากำไรน้อย” ฉะนั้น ถ้าเป็นสตาร์ทอัพต้องดูว่า ถ้าสำเร็จแล้ว วันนี้ยังเล็กก็ไม่เป็นไร แต่มันมีโอกาสยิ่งใหญ่ แล้วเวลามันสำเร็จ เราก็จะมีโอกาสยิ่งใหญ่”

ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว, ธนินท์ เจียรวนนท์, เจ้าสัวธนินท์, ซีพี, cp

  1. ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก: โลกเปลี่ยน อาหารเปลี่ยน

การศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้ข้อมูล เป็นสิ่งที่เจ้าสัวธนินท์ทำอยู่เสมอ เพื่อปรับให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องเทรนด์อาหาร ที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น เจ้าสัวก็กำลังพัฒนาสิ่งที่จะนำมาทดแทนเนื้อสัตว์ และหาทางทำให้น้ำมันหมูมีโอเมก้า 3 อยู่

“คนเข้าใจผิดว่าผมทำอาหารสัตว์ คืออาหารสัตว์ต้องไปเลี้ยงสัตว์ แต่ผมทำอาหารคน อย่างไก่ เป็ด กุ้ง หมู คือคนกิน ถ้ายังมีมนุษย์อยู่ ก็ยังมีธุรกิจตัวนี้คู่อยู่ เพียงแต่เราต้องปรับให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง อย่างเวลานี้กำลังสนใจอาหารสุขภาพ เราก็ต้องตามให้ทันว่าโลกกำลังเปลี่ยน จะผลิตมังสวิรัติโดยใช้ถั่วอย่างที่อเมริกาเขาทำกัน เราก็ทำได้ กำลังเอายีนส์สร้างเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่จริงๆ ตัวนี้ต้นทุนยังสูง แต่ก็ไม่ละเลย เราก็ต้องลงไปศึกษาเกี่ยวกับไบโอเทคโนโลยีแล้วเข้าไปจับมือกับอเมริกา ฮาร์เวิร์ด ค้นคว้าเรื่องยีนส์ของหมู แล้วก็มาพัฒนาให้กลายเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่เทียม ตัวนี้ยังห่างไกล แต่ตัวที่ใช้ถั่วมาทำเป็นเนื้อเทียม เป็นไส้กรอกหรืออะไร ตัวนี้สำเร็จแน่นอน แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีนโยบายชัด ทำยังไงให้การเลี้ยงหมู ตั้งแต่เรื่องอาหารไปจนถึงสายพันธุ์ ทำยังไงให้น้ำมันหมูเป็นโอเมก้า 3 เหมือนน้ำมันปลา กินแล้วเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ให้เป็นคอเลสเตอรอลที่ดี ตรงนี้สำเร็จไป 80% แล้ว ไข่ไก่ก็เป็นคอเลสเตอรอลที่ดี ผมกินอย่างน้อยวันละ 2 ฟอง ผมรู้ว่าไข่ไก่เป็นประโยชน์มาก”

 

  1. การทำธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จ และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดก็ไม่จำเป็นเสมอไป

การทำธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ไม่ได้มีสูตรสำเร็จแค่อย่างเดียว แต่เลือกใช้ให้เหมาะสม อย่างการเลือกใช้เทคโนโลยีก็เช่นกัน เกษตรกรต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุด แต่ขณะเดียวกันตอนที่ทำมอเตอร์ไซค์ขายที่เมืองจีน เจ้าสัวเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม มากกว่าเทคโนโลยีที่ดีที่สุด โดยมองจากความเป็นจริงว่าจีนขาดแคลนมอเตอร์ไซค์ สิ่งที่เจ้าสัวคิดต่อคือ แล้วมอเตอร์ไซค์แบบไหนที่เหมาะกับคนจีน เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลจีนต้องการเงินตราต่างประเทศ จึงประกาศหาเอเย่นต์ขายมอเตอร์ไซค์ไปทั่วโลก เมื่อเจ้าสัวถามว่ามอเตอร์ไซค์นั้นให้คนจีนในประเทศใช้ได้หรือไม่ ทางรัฐบาลตอบว่าได้ เจ้าสัวจึงมองว่าเรื่องดังกล่าวเหมือน “เส้นผมบังภูเขา” แทนที่จะขายออกไป ก็ขายให้คนจีนในเมืองจีนใช้ก็แล้วกัน โดยนำกลยุทธ์การขายเข้ามาเสริม เพื่อให้รัฐบาลได้เงินตราต่างประเทศมาใช้

“ผมไปลงทุนโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของจีน ถูกด้วย แทบจะไม่ต้องเสียอะไร ว่าใครต้องการมอเตอร์ไซค์ก็ให้บอกญาติพี่น้องที่อยู่ต่างประเทศ ให้เอาเงินส่งมาที่ฮ่องกง แล้วเราก็ส่งเงินไปที่เซี่ยงไฮ้ให้รัฐบาล แล้วมอเตอร์ไซค์ก็ให้ญาติไปเอาจากเซี่ยงไฮ้ไปใช้ ตอนนั้นเติ้งเสี่ยวผิงบอกว่า เกษตรกรที่ส่วนเหลือแล้วเอาไปขายเองได้ แต่เกษตรกรเขาไม่มีรถบรรทุก ถนนก็เล็ก เขาใช้จักรยานกัน ผมก็เอามอเตอร์ไซค์มาขาย รีเสิร์ชแล้วว่า มอเตอร์ไซค์ของญี่ปุ่นที่ทนทาน แข็งแรง ปีนเขาได้ อดทน อะไหล่เป็นของฮอนด้า 4 จังหวะ ตอนที่ผมไปเจรจา ญี่ปุ่นเขาไม่ใช้แล้ว เขามีคันที่เล็กกว่า วิ่งได้เร็วกว่ารถน้ำมัน ผมก็เลยไปซื้อตัวนี้มา คือเหมาะสมที่สุดกับเมืองจีนในตอนนั้น เวลาเลือกเทคโนโลยีต้องเลือกที่เหมาะสม ไม่ใช่เอาอย่างดีที่สุด ซ่อมง่าย แข็งแรง ขนของได้ ปีนเขาได้ เลยเอาเทคโนโลยีตัวนี้เข้าไป ซื้อถูกมาก ก็เอาไปสร้างที่เมืองจีน ขาย 6 หมื่นคันทันที นี่คือเส้นผมบังภูเขา เราไปรับรู้ว่าตอนนั้นจีนขาดมอเตอร์ไซค์ แล้วคุณจะเอาไปขายต่างประเทศทำไม ก็เอาเงินตราให้คุณ แล้วคุณก็เอามอเตอร์ไซค์ให้คนจีนใช้ก็หมดเรื่อง วินวินทุกฝ่าย รัฐบาลก็แฮปปี้ เงินตราก็ได้ ประชาชนก็ได้เอามอเตอร์ไซค์ไปใช้ขนส่ง”

 

  1. เสี่ยง 30 ชนะ 70 และความเสี่ยงนั้นต้องไม่ทำให้ล้มละลาย

ความคิดของเจ้าสัวธนินท์มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในแต่ละเรื่อง และไม่มีสูตรสำเร็จที่เหมือนกินยาวิเศษเม็ดเดียวแล้วได้ทั้งหมด ซึ่งเจ้าสัวบอกว่าการทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง แต่ต้องประเมินความเสี่ยง และความเสี่ยงนั้นต้องไม่ทำให้ล้มละลาย

ใครบอกว่าทำธุรกิจไม่มีความเสี่ยง ไม่มีความเสี่ยงก็อย่าทำครับ ทำต้องเสี่ยง อย่างซีพีเวลาทำใหญ่เนี่ย เสี่ยงแล้วมันอันตรายก็ต้องคิดว่า ไอ้ที่เสี่ยงนี่เราหนีไม่พ้นหรอก แต่ก็คิดแล้วว่า ถ้ามี 70% ได้ 30% มีโอกาสเสี่ยง ผมก็จะลงทุน ไม่มีอะไรที่ 100% หรือไม่มีอะไรที่ 50/50 แต่ถ้าโครงการนั้นมันใหญ่มากถึงขั้นทำให้ซีพีล้มละลายได้ ผมไม่เอาเลย นโยบายของเครือซีพีคือ เสี่ยงได้ แต่ต้องไม่ล้มละลาย อะไรเสี่ยงเกินตัว เราไม่เอา”

 

  1. เมื่อเจอวิกฤติต้องทิ้งบางอย่าง เพื่อรักษาส่วนสำคัญให้รอด

คำว่า “มืดแปดด้าน” ก็เคยเกิดขึ้นกับเจ้าสัวธนินท์ ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งบริษัทมีหนี้ต่างประเทศ เจ้าสัวจึงต้องเลือกขายธุรกิจบางอย่างทิ้ง และรักษาธุรกิจเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมไว้

“ผมจะขายธุรกิจที่ผมสร้างขึ้นมาใหม่ก่อน ตอนวิกฤตินี่ต้องจำไว้ เรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้ ต้องทิ้งบางอย่าง ดูว่าอันไหนสำคัญเราต้องรักษาไว้ แล้วก็สำคัญทั้งนั้นนะ สำคัญถึงจะขายได้ตอนวิกฤติเนี่ย ถ้าไม่สำคัญ ไม่ดี ก็ขายไม่ได้อีก เลยมีบทเรียนเตือนทุกท่านว่า เวลาจะทำอะไร ต้องทำที่โลกยอมรับ และเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มิฉะนั้นเมื่อวิกฤติแล้วให้เขาฟรีเขายังไม่เอาเลย บังเอิญเราทำของใหม่ ตอนนั้นมี ทรู, โลตัส, แมคโคร, เซเว่นอีเลฟเว่น 4 ธุรกิจใหม่ ผมขายโลตัสก่อน เพราะคนเห็นว่าธุรกิจนี้ดีมาก อังกฤษเป็นคนมาซื้อยังพูดตรงๆ กับผมว่า คุณทำเหนือกว่าผมที่อังกฤษอีก ราคาเราขายเท่าไหร่เขาไม่ต่อรองเลย เขาซื้อแล้วยังเหลือ 25% ให้เราอีก ผมก็พอใจแล้วว่า อืม ตอนนั้นอังกฤษคบได้ทีเดียว เราก็ไปคืนหนี้

อันที่สองผมขายแมคโคร เราต้องคืนหนี้ให้หมด เพราะบริษัทแม่นี่ถ้าไม่คืนหนี้ให้หมดคือล้มละลาย เครดิตทั่วโลกหายหมดเลยทีนี้ แต่เจ้าของแมคโครนี่เราต้องบอกว่าเราเลือกคนถูกต้อง เขาก็เห็นใจ แล้วถ้าตอนนั้นผมขายโทรศัพท์อันเดียวนี่จบเลย ไม่ต้องขายแมคโครกับโลตัสหรอก คือตอนนั้นโทรศัพท์ยังดีมาก พอมีเทคโนโลยีเกิดใหม่ ธุรกิจตัวนี้ไม่มีความหมายไปเลย อันนี้ประเมินผิด อย่างโลตัสจะซื้อกลับนี่เขาบอกต้องหมื่นล้าน U.S. แมคโครซื้อกลับมา 6 พันกว่าล้าน U.S. เสียดาย แต่ไม่ได้ เพราะเรือมันเจอพายุแล้ว เราต้องทิ้งของบางส่วน รักษาเรือลำนี้ให้อยู่รอดก่อน แล้วค่อยหาคืนมา นี่เป็นของจริง ประสบการณ์บอกเราว่า ถ้าตอนนั้นอันนี้ก็จะรักษาไว้ อันนู้นก็จะรักษาไว้ สุดท้ายล้มทั้งลำ ก็เหลือเฉพาะที่มีอนาคต โดยเฉพาะที่พี่น้องสร้างเอาไว้ ยังไม่ทันขายเซเว่น ขายแค่แมคโคร, โลตัส เราก็ผ่านวิกฤติแล้ว”

 

  1. วิกฤติและโอกาสเป็นของคู่กัน: ตอนมีอย่าเหลิง ตอนเจออย่าท้อ และอย่าตาย

เจ้าสัวธนินท์เป็นคนที่ชอบศึกษา และ “วิกฤติ” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าสัวศึกษาและได้บทเรียน

“ความจริงวิกฤติเป็นโอกาสเหมือนกันนะ ลองไปศึกษาให้ดีๆ ผมชอบศึกษาและเป็นบทเรียนของเราด้วย อยากเตือนทุกท่าน ตอนที่ดีที่สุด ตอนที่เรารุ่งเรืองที่สุด เราต้องคิดตลอดเวลาแล้วว่า ถ้าเกิดมันมืดลงมาล่ะ เกิดวิกฤติมา เรารับไหวไหม เราต้องทำการบ้านแล้วนะ อย่าเหลิง แต่ตอนที่วิกฤติแล้วมืดที่สุด อย่าท้อใจ แสงสว่างจะมาแล้ว ตอนวิกฤติ ตอนกำลังแย่ๆ นี่ อย่าตาย ถ้าตายไปก็เอาคืนไม่ได้ หมดโอกาส วิกฤติตามมาด้วยโอกาส โอกาสก็จะตามมาด้วยวิกฤติ อันนี้คู่กัน เมื่อผ่านวิกฤติได้ต้องคิดแล้วว่า หลังจากวิกฤติแล้วมีโอกาสอะไร เราต้องเตรียม”

 

  1. คำนึงถึงพี่น้องและพนักงาน: ขายแล้วต้องขยายด้วย

แม้อยู่ในช่วงประสบวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เจ้าสัวก็ไม่ละเลยความรู้สึกของพี่น้องและพนักงาน โดยให้พี่น้องอีก 3 คน ไปเที่ยวพักผ่อนให้สบายใจ เพื่อจะได้เป็นคนที่ปวดหัวคนเดียวพอ ซึ่งจะทำให้มีเวลาคิดแก้ไขปัญหา และแม้ปัญหาจะถาโถม ก็ยังเลือกมองไปข้างหน้า นอกจากขายบางอย่างเพื่อรักษาส่วนสำคัญให้รอดแล้ว เจ้าสัวมองว่ายังต้องขยายด้วย

“เรื่องวิกฤติมีความน่าสนใจ 1. เรื่องพี่น้อง ถ้าเราไม่เครียด ไม่ต้องมานั่งรับโทรศัพท์พวกเขา เราจะมีเวลานั่งคิดแก้ปัญหา 2. เวลาเรืออับปาง ต้องโยนบางอย่างทิ้ง 3. แค่รักษาเฉยๆ ไม่ได้ ต้องขยายด้วย เพื่อหาเงินอื่นๆ เสริมมา และเป็นเรื่องขวัญกำลังใจพนักงาน อนาคตเราต้องขยายอีก ขยายธุรกิจที่เราเห็นว่าดี ถ้าเราไม่ขยาย ก็กินของเก่าเท่านั้น ก็ไม่ได้ โลกมันเปลี่ยนแปลง ถ้าตอนนั้นใครมีเงินขยายก็จะได้เปรียบที่สุด เพราะของถูกที่สุด”

ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว, ธนินท์ เจียรวนนท์, เจ้าสัวธนินท์, ซีพี, cp

  1. สนับสนุนคนเก่ง และสร้าง “ผู้นำ” ที่ดี

ซีพีเป็นองค์กรใหญ่มาก ทั่วโลกมีพนักงาน 3 แสนกว่าคน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะผู้นำ ซึ่งเจ้าสัวธนินท์ให้ความสำคัญกับการสร้าง “ผู้นำ” เป็นอย่างมาก และมอบเวลาส่วนใหญ่ให้กับสถาบันฝึกผู้นำของซีพีที่เขาใหญ่ โดยให้เด็กจบใหม่ฝึกปฏิบัติงานจริง ด้วยการตั้งงบประมาณ 1 แสนบาท ให้เด็กทำธุรกิจอะไรก็ได้ ขาดทุนไม่เป็นไร ขอเพียงกล้าทำ โดยไม่มีอะไรครอบงำ ให้เด็กนำเสนอเส้นทางที่จะพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ แล้วเจ้าสัวจะตั้งคำถามถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ฝึกให้เด็กคิดแก้ไขปัญหา ต้องกล้าเอาปัญหามาพูด ที่สำคัญคือต้องรู้กำไรขาดทุนทุกวัน โดยเจ้าสัวจะเป็นคนคอยชี้แนะ แต่ไม่ชี้นำ

“ดีที่สุดในการพัฒนาคนคือต้องให้เขาลงมือทำ ต้องให้อำนาจ แล้วเขาจะสนุก ต้องให้เขาคิดเอง ทำเอง เราเพียงแต่ให้ข้อเสนอแนะ อย่าไปชี้นำ ทำผิดก็ถือเป็นค่าเล่าเรียน ให้เขารู้ว่าอันนี้เขาทำเสียหายไปแล้ว เขาผิดพลาดแล้ว ก็ให้โอกาสทำต่อ การสนับสนุนคนเก่ง ต้องให้อำนาจเป็นอันดับ 1 เพื่อให้เขาแสดงความสามารถ อย่าไปกำกับ อย่าไปครอบงำเขา อย่าไปชี้นำ ชี้แนะได้แล้วให้เขาทำ ให้เขาแสดงความสามารถ และให้เกียรติ ต้องมีตำแหน่ง ตามด้วย เงิน ทำงานมาก เงินก็ต้องมากพอสมควร

ผู้นำนี่สำคัญมาก ต้องเอาผลประโยชน์ตัวเองอยู่เป็นที่ 3 ผลประโยชน์ที่ 1 ต้องเป็นบริษัท เพราะบริษัทไม่มีวิญญาณ ตัวผู้นำต้องใส่วิญญาณให้บริษัท ถ้าเขาเห็นแก่ตัว บริษัทล้มละลายแน่ ต้องเห็นแก่บริษัทก่อน แล้วก็พนักงาน เพื่อนร่วมงาน จะเป็นผู้นำได้ ตัวเองต้องอยู่ที่ร้อนได้ แม้จะเป็นธุรกิจตัวเอง คุณก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อบริษัทที่ตั้งขึ้นมา แล้วก็เพื่อพนักงาน พนักงานต้องมาก่อนคุณ เพราะถ้าไม่มีเพื่อนร่วมงานช่วยทำ คุณคนเดียวจะสำเร็จได้ยังไง”

 

  1. เคารพคนเก่งด้วยความจริงใจ มองจุดเด่น อย่ามองจุดอ่อน

วิธีเรียนลัดของเจ้าสัวธนินท์คือการไปพบคนเก่ง เพื่อให้คนเก่งเป็นอาจารย์ โดยไม่ต้องมองเรื่องอายุ หรือจุดด้อย จุดอ่อน ให้มองที่จุดเด่น และเคารพนับถือเขาด้วยความจริงใจ

“เราต้องยอมรับของใหม่ๆ ผมไม่ได้ดูถูกคนที่จบใหม่เลย ที่ผมสร้างอยู่นี่ (สถาบันฝึกผู้นำ) รับรองปีนึงเขาเป็นผู้จัดการได้ เผลอๆ เก่งกว่าผู้จัดการอีก เพราะทำจริง ไปสัมผัสจริง เราเพียงแต่ชี้แนะ แล้วคนเก่งในโลกนี้โผล่ขึ้นมาเรื่อย เราเรียนลัดที่สุดคือไปคุยกับเขา ไปยอมให้เขาเป็นอาจารย์ อย่างผมพอมีชื่อเสียง ถ้าผมยอมไปเคารพเขา ผมว่าคนเก่งในโลกนี้ ไม่มีใครปฏิเสธคนที่มาเรียนรู้กับเขา มาเคารพเขา มีความจริงใจกับเขา ยกย่องเขา ผมชอบยกย่องคนอื่น คนเก่งอยู่ที่ไหน ผมไม่เคยไปมองความด้อยเขาเลย ถ้าจะดูความด้อย ทุกคนก็มีจุดอ่อน พนักงานก็เหมือนกัน เพื่อนร่วมงานก็เหมือนกัน ผมต้องมองว่าความเก่งเขาอยู่ตรงไหน หาจุดเด่นของเขาให้เจอ แล้วเราก็จะเคารพนับถือเขาด้วยความจริงใจ

ถ้าเราไปมองจุดอ่อนเขา คุยกับเขาแล้วบางทีก็ดูถูกเขาแล้วล่ะ แต่ความจริงเขามีจุดแข็งกว่าเราเยอะบางอย่าง ฉะนั้น ผมจึงชอบเรียนรู้ ทุกวันนี้ผมก็ยังเรียนรู้ แล้ววันนี้ผมมีข้อดีอยู่ว่า ผมเคารพนับถือคนหนุ่มสาว เด็กเพิ่งจบ เพราะผมรู้ว่าเด็กทุกคนเก่ง แล้วผมก็คัด บริษัทก็คัดหัวหน้านักเรียน พวกทำกิจกรรมมา แล้วก็ให้โอกาสเขา ให้เป็นเถ้าแก่น้อยเลย ทำไมให้เป็นเถ้าแก่ เพราะผมก็เคยทำเถ้าแก่เล็ก ทุกอย่างต้องรู้หมด ต้องรู้เรื่องบัญชี การเงิน รู้จักจัดซื้อ รู้จักขาย เพราะเรายังเล็ก ไปจ้างคนเก่งๆ เขาก็ไม่มา ถ้าไปจ้างคนไม่เก่งก็สู้เราไม่ได้ ฉะนั้น คำว่า “เถ้าแก่” ต้องรู้ทุกเรื่อง แต่พอธุรกิจใหญ่ขึ้น เราก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญเรื่องนี้โดยเฉพาะ เราก็จ้างเขาไหว เขาก็อยากจะมา ดีทั้งคู่ ตอนที่เรายังเล็กอยู่ คนเก่งเราก็จ้างเขาไม่ไหว มันก็เล็กเกินไปสำหรับความสามารถเขา ดังนั้น ผมตั้งเป็นเถ้าแก่น้อย พอ 6 เดือนขึ้นมาเป็นเถ้าแก่เล็กแล้ว ปีนึงเป็นเถ้าแก่กลางได้แล้ว ถ้ามีผลงาน”

 

  1. เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเฮงด้วย

อายุเป็นเพียงตัวเลข เพราะคนวัย 80 อย่างเจ้าสัวธนินท์ ยังรับความรู้ใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ โดยมีเทคนิคคือต้องเปิดใจกว้าง และมองว่าคนที่จะสำเร็จได้ต้องมีทั้งความเก่งและเฮงประกอบกัน

“เราเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องบวกเฮงด้วย บวกโอกาสด้วย ทุกคนมีโอกาส เพียงแต่โอกาสมากหรือน้อย โอกาสมาเร็วหรือช้า บางคนอายุ 60 แล้วถึงจะเจอโอกาส เรื่องอย่างนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ผมเจอโอกาสมาเร็ว แล้วผมก็ทุ่มเท สู้ ผ่านวิกฤติ ผ่านปัญหา ยิ่งผ่านวิกฤติมากก็ยิ่งเก่งขึ้นมาก คนที่ประสบความสำเร็จเหมือนกัน แต่คนนึงผ่านวิกฤติมาก่อน อีกคนราบรื่น คนผ่านวิกฤติมาเก่งกว่าเยอะ ดังนั้น ผมเข้าใจคนหนุ่ม ผมอายุ 21 ก็ทำงานแล้ว แต่วันนี้คนหนุ่มที่จบมาอายุ 22 จบมหาวิทยาลัยมา ความรู้มากกว่าผมเยอะแยะ เพียงแต่เขาขาดโอกาส ผมคิดว่าการเรียนนี่ไม่ต้องถึง 4 ปีหรอก มหาวิทยาลัยเรียนมากไปแล้วครับ ถ้าจะเรียน 4 ปี เรียนไปทำงานไปดีกว่า ออกมาเรียนครบ 4 ปี เป็นผู้จัดการได้เลย การปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ รู้จริง อย่าไปเสียเวลาอ่านทฤษฎี เคสบางเคสเราเอามาใช้จริงไม่ได้ เพียงแต่เอามาเป็นไกด์ไลน์ เป็นข้อมูลได้ จริงๆ แล้วต้องทำไปแก้ไป พวกสตาร์ทอัพที่สำเร็จมีตำราที่ไหน อย่าง “แจ็ค หม่า” ไม่มีตำรา ทำไป แก้ไป เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาไป”

 

  1. ทำเรื่องใหม่ต้องใช้คนใหม่ เพราะลูกวัวไม่กลัวเสือ

เจ้าสัวธนินท์กล่าวถึงการทำเรื่องใหม่ๆ ว่า ที่จริงคนเก่าก็ใช้ได้ แต่ช้ากว่าใช้คนใหม่ คนเก่ารู้เรื่องเก่า ถ้ารู้ยิ่งลึก เปลี่ยนยิ่งยาก แต่คนใหม่นั้นเหมือน “ลูกวัวไม่กลัวเสือ” กล้าคิด กล้าทำ

เรื่องใหม่ต้องใช้คนใหม่ ผมเคยพูดอยู่คำนึงว่า ลูกวัวไม่กลัวเสือ คนเก่า เวลาจะให้เปลี่ยนทำเรื่องใหม่ กลายเป็นว่า เขาเคยทำเรื่องนี้สำเร็จ ทำได้ผลมาก แต่พอไปทำเรื่องใหม่นี่ เขาไม่รู้ ไม่เคยทำ ถ้าไม่เคยทำ อย่าเพิ่งทำ บัวช้ำน้ำขุ่น เอาคนใหม่มาทำ แล้วไม่ต้องเสียเวลาไปล้างสมองเขา คนเก่าติดความเคยชินเดิม แต่ถ้าเราเอาคนใหม่ทำของใหม่ แล้วทำให้คนเก่าเห็น อันนั้นเปลี่ยนได้ เพราะมนุษย์จะไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง”

 

  1. เราทำทุกเรื่องไม่ได้ ต้องเลือก และทำสิ่งที่ถนัด

เพราะเป็นคนเก่งที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก จึงมีโอกาสต่างๆ พุ่งเข้าหาเจ้าสัวธนินท์อย่างมหาศาล แต่เจ้าสัวไม่เลือกที่จะคว้าไว้ทั้งหมด แต่เลือกที่จะทำธุรกิจที่จำกัดความได้ 2 อย่าง คือ อาหารสมอง และ อาหารอิ่มท้อง

“มีอะไรที่อยากทำอีกเยอะ แต่มันไม่ไหวหรอกครับ ต้องเลือกทำ เพราะพลังเราก็มีจำกัด แล้วเราไม่ใช่เก่งทุกเรื่อง เราต้องเลือกอะไรที่เราถนัด แต่สำคัญต้องเลือกที่มีอนาคต เราทำธุรกิจทุกเรื่องไม่ได้หรอก คนมองว่าเราไปเรื่องโทรศัพท์ ไปเรื่องทีวีทำไม ผมตั้งว่าเป็นเรื่อง “อาหารสมอง” มนุษย์จะขาด 2 เรื่องไม่ได้ คือ ความรู้ซึ่งเป็นอาหารสมอง ดูทีวี ฟังเพลง เป็นความสุข ก็เป็นอาหารสมอง ได้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ก็จากอาหารสมอง ซีพีทำ 2 เรื่อง อีกเรื่องก็ “อาหารอิ่มท้อง” แต่อาหารอิ่มท้องสำคัญกว่าอาหารสมองอีก สองตัวนี้คู่กันกับมนุษย์ แต่ถ้าให้เลือกก็ต้องมีชีวิตไว้ก่อน ฉะนั้น การเลือกธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญคู่กับมนุษย์ นอกเหนือจากนี้เราไม่ทำ ของซีพีอย่างค้าปลีกนี่มันต่อเนื่องจากการขายสินค้าอาหาร การให้ความสะดวกเป็นเรื่องจำเป็นของมนุษย์ประจำวัน ที่ซีพีทำมามันต่อเนื่อง ต่อไปธุรกิจทุกเรื่องมันต้องต่อเนื่องกัน มันจะเอื้อกันมากขึ้น อย่างรถยนต์มีชิ้นส่วน 4-5 พันชิ้นส่วน เขาต้องมาผนึกกำลังอยู่ที่เดียวกัน เพื่อลดขั้นตอนขนส่ง ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ”

ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว, ธนินท์ เจียรวนนท์, เจ้าสัวธนินท์, ซีพี, cp

  1. ค่านิยม 6 ข้อ ของซีพี

“ข้อที่ 1 ทำอะไรต้องเป็นประโยชน์ 3 ส่วน คือ ประโยชน์ต่อชาติ ต่อประชาชน และต่อบริษัท

ข้อที่ 2 ต้องเร็วและต้องมีคุณภาพ

ข้อที่ 3 ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

ข้อที่ 4 ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ข้อที่ 5 ต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะคนฉลาดชอบทำของง่ายๆ คนฉลาดต้องเก่ง ถ้าคนฉลาดกว่าต้องเลือกทำของยากๆ ทำให้มันง่ายขึ้น อย่างผมต้องเอาของยากที่สุด เพราะพอผมทำของยากนี่คนเก่งไม่มา เพราะคนเก่งคนฉลาดจะมองว่า อย่างนี้มันไม่มีทางสำเร็จหรอก เราก็เจอปัญหาเหมือนกัน เหมือนการต่อยมวย ขึ้นต่อยมวยคนเดียว สะดุดขาล้มไปนับ 10 ตื่นขึ้นมาก็เป็นแชมป์ เพราะไม่มีคู่ต่อย ถ้าเราสำเร็จเมื่อไหร่ คนค่อยมาตาม ก็สายไปแล้ว ซีพีถึงถูกมองว่าผูกขาด เราผูกขาดที่ไหน เราทำก่อน อย่างเช่นสินค้าเกษตรเอย เซเว่นเอย ทุกคนมองว่าขาดทุน จนเราสำเร็จค่อยมาตาม

ข้อที่ 6 เห็นโอกาสก่อน เริ่มต้นก่อน โดยเฉพาะเริ่มต้นในสิ่งที่คนคิดว่ายาก แล้วพอเราทำสำเร็จ คนจะตามก็ยาก”

 

  1. การทำงานคือการไปเที่ยว: มองอุปสรรคให้เป็นอาหาร 3 มื้อ

แม้วัยจะล่วงเลยมาถึง 80 และมีความพร้อมทุกอย่างแล้วในชีวิต แต่เจ้าสัวธนินท์ยังสนุกกับการทำงานในทุกๆ วัน โดยมอบหมายงานหลักแต่ละส่วนให้ผู้บริหารงานทำ ส่วนตัวเจ้าสัวทำเรื่องใหม่ คือการใช้เงินเพื่อสร้างคนเก่ง

ผมถือว่าการไปทำงานคือการไปเที่ยว ต้องคิดว่าเป็นเรื่องเล่นเกม ท้าทายตัวเอง คือถ้าเราไม่ทำงาน วันนึงก็ผ่านไป สมมติว่าผมไปเที่ยวสบายเลย วันนึงก็ผ่านไป ปีนึงก็ผ่านไป 10 ปีก็ผ่านไป แต่ถามว่าแล้วเราสนุกอะไรกับสิ่งที่เป็นความฝัน เราไม่ได้อะไรเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่เราทำงานก็ต้องคิดว่าสนุก ไปเที่ยวเหมือนกัน อย่าคิดว่าเป็นภาระ เจออุปสรรคก็คิดว่าเป็นอาหาร 3 มื้อ เป็นเรื่องธรรมดาของนักธุรกิจ มีปัญหาไหม มี อย่างผมก็ผ่อนถ่ายให้กับผู้บริหารทั้งหลาย อะไรที่เรากลุ้มใจก็ให้คนอื่นไปกลุ้มใจเสีย ก็ฝึกฝนเขาด้วย แล้วเราค่อยให้การสนับสนุน ให้ข้อคิด

ผมไปออฟฟิศนี่มีความสุข เจอปัญหาก็ท้าทาย เราต้องเปลี่ยนแปลงโลก แล้วโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ปัญหาทั้งคน ทั้งการลงทุน อะไรต่ออะไร งานส่วนใหญ่มีคนเก่งๆ ทำอยู่แล้ว อย่าง 3 ธุรกิจหลักในเมืองไทยก็มี CPF เป็นเรื่องอาหาร นี่เป็นธุรกิจเก่าแก่ เรื่องค้าปลีก เรื่องทรู ทรูนี่กำลังจะมาแซงซีพีออลล์แล้ว อาหารสมอง กินไม่อิ่มน่ะ เราก็มีคนรับผิดชอบอยู่ 3 คน ส่วนจีนกับญี่ปุ่น ต่างประเทศ ก็มีคนดูแล หลักใหญ่จริงๆ ก็มีคนดูแลแล้ว

ส่วนผมก็ทำเรื่องใหม่ เรื่องใช้เงิน คือการเปลี่ยนแปลงมีปัญหาแน่นอน การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เงิน อย่างศูนย์ฝึกผู้นำ เราต้องใช้เงิน แล้วผมก็บอกเพื่อนร่วมงานทุกท่านว่า ตรงนี้ให้คิดว่าเราลงทุนทำโรงงานที่ทันสมัยที่สุด โรงงานผลิตของออกมามีค่า แต่ศูนย์ผู้นำ ประเมินค่าไม่ได้ เราสร้างคนเก่งคนนึง เขาจะสร้างธุรกิจให้เราอีกเป็นแสนล้าน แต่ถ้าเราสร้างสินค้าออกมาก็จะมีราคาระบุว่า นี่กิโลนึงราคาเท่าไหร่ ถ้าเราสร้างคนเก่ง ไม่มีมูลค่าที่เทียบ ตรงนี้สำคัญที่สุด พ่อแม่เสียเงินส่งเสียให้คุณเรียนไปเท่าไหร่ กว่าจะเลี้ยงขึ้นมาจนโตอีก แต่ธุรกิจโดยเฉพาะยุค 4.0 มันกำลังจะเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ บริษัทใหญ่ๆ ล้มละลายได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อผม ธุรกิจเปลี่ยนแปลง แล้วพวกสตาร์ทอัพก็จะมานั่งเป็นผู้ใหญ่ อย่าง อาลีบาบา เปิดมา 18 ปี แซงบริษัทที่ 100 ปีแล้ว”

 

  1. ปัญหามาคู่กับการเปลี่ยนแปลง

“ไม่มีอะไรที่ไม่มีปัญหา เชื่อผม นอกจากเราไม่ทำ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พัฒนา ไม่ก้าวหน้า เราเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ ก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นเมื่อนั้น สมมติเราอ้วนขึ้น อายุมากขึ้น เสื้อผ้าเราก็ต้องเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงต้องมีปัญหา ถ้าคนเคยทำธุรกิจ ต้องเจอปัญหาแน่นอน ยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็ว ปัญหาก็ยิ่งมาก ยิ่งเปลี่ยนแปลงมาก ปัญหาก็ตามมายิ่งมาก ฉะนั้น ต้องแก้ ต้องถือว่าปัญหามาคู่กับการเปลี่ยนแปลง เพราะเลี่ยงไม่ได้”

 

  1. ธุรกิจตัวเบา: การเปลี่ยนแปลงคือ “โอกาส”

มีคนถามว่า หากวันนี้เจ้าสัวธนินท์อายุ 30 กว่า และไม่ได้มีเงินเหมือนในวันนี้ จะเริ่มต้นด้วยธุรกิจอะไร เจ้าสัวมองว่าต้องเลือกทำสิ่งใหม่ เพราะของเก่ามีคนทำอยู่แล้ว เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง โอกาสก็มากับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย อย่างในทุกวันนี้ คนไทยกำลังติด “ความสะดวกซื้อ” สั่งสินค้าผ่านจอก็มีคนเอาของมาส่งให้ถึงที่ ซึ่งเจ้าสัวมองว่าเป็นเรื่องลอจิสติก หรือความสะดวกในการขนส่งที่กำลังสร้างให้คนไทยเปลี่ยนนิสัย ซึ่งสะเทือนมาถึงธุรกิจของเซเว่นอีเลฟเว่น และแม้จะเป็นเบอร์ 1 ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

เรื่องลอจิสติกนี่กำลังสร้างให้คนไทยเปลี่ยนนิสัย นี่เป็นโอกาสของเซเว่นอย่างมหาศาล ถ้ายังหลับอยู่ เซเว่นก็มีโอกาสล้มละลายเหมือนกัน เพราะพวกนี้ส่งแทนหมด รู้จักลูกค้าหมด อีกหน่อยเขาก็ไม่ต้องมาซื้อจากเซเว่น เขามีโกดังมืดก็พอ ซื้อขายทางเว็บไซต์ คุณไปเปิดร้านเซเว่นทุนหนัก ช้า แต่บนเว็บไซต์ของเขา เซเว่นมีอะไร เขามีหมด เซเว่นไม่มี เขายังมี ส่งเสื้อผ้าอีก ภัตตาคารอีก นี่คือ “ธุรกิจตัวเบา” ทุกๆ ครั้งที่เปลี่ยนแปลง มันจะนำมาด้วยโอกาสอย่างมหาศาล เพียงแต่เราเข้าใจหรือเปล่า เรารู้จักโอกาสนี้หรือเปล่า ใช้โอกาสนี้หรือเปล่า ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ยังไง ผมกล้าพูดตรงนี้ว่า หลังจากนี้โอกาสจะมากมายกว่านี้อีกเยอะ

ผมเชื่อว่าทั่วโลกพิมพ์เงินอย่างมหาศาลนะ ทำไมเงินไม่เฟ้อ เพราะสินค้ามันก็ผลิตออกมาอย่างมหาศาลเหมือนกัน เพราะเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น ทุกอย่างมันเร็วขึ้น ตามประวัติศาสตร์ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะเพิ่มอาชีพ เพิ่มโอกาสมาอีกเยอะ แล้วถ้าใครได้โอกาสนี้ คนนั้นก็เป็นใหญ่ไป คนไหนละเลยไป แม้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ล้มละลายได้ เปลี่ยนเก้าอี้นั่งแล้ว อย่างอาลีบาบาก็นั่งเป็นเบอร์ 1 แล้วของนักธุรกิจที่จีน คำว่า “บัลลังก์มหาเศรษฐี” ก็อาจเปลี่ยนคนนั่งได้”

 

  1. กระตุ้นรัฐบาล โอกาสของไทยมาถึงแล้ว อย่ามัวแต่หลับใหล

นอกจากเรื่องธุรกิจส่วนตัว เจ้าสัวธนินท์ยังมองเห็นโอกาสของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตรและการเป็นฐานการผลิต ในช่วงเวลาที่จีนกับอเมริกามีปัญหากัน

ตอนนี้ เวลานี้ ผมว่าถ้าเมืองไทยทำเป็นนะ เป็นโอกาสอย่างยิ่งเลย อย่างอเมริกากับจีนมีปัญหากัน เป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างยิ่ง คนจะย้ายฐานการผลิตจากจีน บางอย่างที่จะไปขายให้อเมริกา ไปไหนล่ะ มาเมืองไทยดีที่สุด แต่ถ้าเราไม่ฉวยโอกาสนี้ เขาก็ไปเวียดนาม ไปอินโดนีเซีย แล้วโอกาสนี้ก็หายไป…อย่างเรื่องสินค้าเกษตร เกษตรเป็นน้ำมันบนดิน เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ แต่เรายังละเลยสินค้าเกษตร คิดว่าจำนวนไม่มาก ทั้งที่จริงๆ แล้วมีมากมาย เกษตรของเราเกิดขึ้นจากแผ่นดินไทย ตรงนี้ต้องปกป้อง ต้องให้ราคาดี

ยุคนี้ต้องเร็ว อย่างเรื่องการเชื่อม 3 สนามบินความเร็วสูง ทำให้ต่อไปคนอยู่ระยองก็เหมือนกับอยู่กรุงเทพฯ เพราะเพียง 45 นาที ก็ถึงใจกลางเมืองกรุงเทพฯ แล้ว จีนไปหลายหมื่นกิโลแล้ว เรายังชักช้าอยู่ เขาก็จะย้ายฐานจากเราไปเวียดนามกับอินโดนีเซียแทน ปิโตรเคมีถึงจุดอิ่มตัวและเปลี่ยนแปลงแล้ว รถยนต์ก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลงแล้ว กำลังเปลี่ยนจากรถยนต์เป็นรถไฟฟ้า แน่นอนทุกบริษัทที่ผลิตในเมืองไทย ก็อยากเอารถไฟฟ้าไปผลิตที่ประเทศอื่น ถ้าเรายังไม่รีบมีมาตรการดีๆ ให้เขาอย่าย้ายฐาน ตรงนี้ผมว่ารัฐบาลยังมองไม่เห็นความสำคัญ ปิโตรเคมีก็จะค่อยๆ หายไป พวกอิเล็กทรอนิกส์ก็จะเริ่มย้ายฐาน เหมือนกัน วันนี้เราต้องรีบลดหย่อนเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นโอกาสดีอย่างยิ่ง ดึงคนมาลงทุน ยิ่งอเมริกากับจีนมีปัญหากัน ยิ่งเป็นโอกาสของไทย ทำไมเรายังนอนหลับอยู่”

 

  1. ความฝันวัยเด็ก: อยากเป็นนักสร้างหนัง

“ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ ก็ชอบไปดูถ่ายทำ อยากจะมาเขียนบทหนัง แล้วก็จะมาสร้างหนัง ตอนนั้นอายุ 10 กว่าขวบ แต่ตอนนี้ผมหมดอายุ หมดเวลาแล้ว ตอนนี้ลูกเขยกำลังทำอยู่ แต่นี่ก็คือเป็นบันเทิง เป็นอาหารสมองส่วนหนึ่ง แล้วต่อไป มนุษย์จะมีเวลามากขึ้น งานมากขึ้นแต่มีเวลามากขึ้น เพราะใช้เวลาน้อยทำงานใหญ่ เทรนด์จะเป็นอย่างนี้แน่นอน”

 

  1. ความหมายของชื่อหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”

“ในชีวิตผมไม่เคยฉลอง สำเร็จจะใหญ่เล็กไม่เคยฉลอง เพราะเรารู้ว่าเมื่อสำเร็จแล้วมันจะตามมาด้วยปัญหาอีก ยิ่งสำเร็จใหญ่ ปัญหาก็จะยิ่งใหญ่ แล้วเราต้องเตรียมแก้ปัญหา เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผมดีใจเพียงวันเดียว เพราะพรุ่งนี้ไม่ใช่แล้ว พรุ่งนี้อาจจะมีคู่แข่งเหนือกว่าเรา ทุกๆ วันต้องศึกษาดูว่า เรามีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงไหม เราอย่าไปอิจฉาใคร ต้องดูตัวเราเอง สร้างตัวเราเองให้เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่าดีใจนานไป ไม่มีประโยชน์”

 

  1. เลือกถ่ายทอดประสบการณ์เป็น “หนังสือ” เพราะเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้

แม้จะมีแพลตฟอร์มมากมายในยุคปัจจุบัน ที่บันทึกประสบการณ์และความทรงจำไว้บนโลกออนไลน์ได้ แต่เจ้าสัวธนินท์ก็เลือกที่จะทำเป็น “หนังสือ” เพราะเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้โดยไม่หายไป

“ในชีวิตไม่เคยคิดทำหนังสือ แต่อ่านหนังสือของ แจ็ค เวลส์ จึงประทับใจว่า เขาเปลี่ยนแปลงยังไง ผมใช้ระยะเวลายาวนานถึง 8 ปีในการเขียนหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” เพราะต้องการตรวจสอบก่อนว่า ยังมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงหรือเป็นประโยชน์กับคนอ่านที่ต้องแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือไม่ หนังสือเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้ ถ้าทำเป็นวิดีโอ เอาข้อความไปใส่ในเฟซบุ๊ก หรืออะไร บางทีมันก็หายไปได้ ถึงบทบาทของหนังสือจะน้อยลง แต่ยังมองไม่เห็นทางว่าหนังสือจะหมดไป”

 

  1. ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว: ความล้มเหลว ก็เสียใจได้วันเดียวเช่นกัน

ในช่วงท้ายของงาน คุณสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งเป็นนักข่าวคนเดียวที่เคยได้สัมภาษณ์เจ้าสัวธนินท์ออกทางทีวี เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ได้ร่วมปันประสบการณ์ที่เคยได้พบและพูดคุยกับเจ้าสัวธนินท์ว่า…

“ผมรู้จักคุณธนินท์ครั้งแรก แกพาผมไปเล้าหมู เชื่อไหมครับว่าเจอครั้งแรกนี่ก็คือนวัตกรรม คุณธนินท์เอาขี้หมูมาทำเป็นไบโอแก๊ส…ครั้งแรกที่ผมขอสัมภาษณ์คุณธนินท์ ยากลำบากมาก เพราะคุณธนินท์ไม่ยอมออกทีวี ปฏิเสธมาตลอด ผมต้องตื๊อแล้วตื๊ออีก ผมคุยกับคุณธนินท์ตอนก่อนสัมภาษณ์ รู้เลยว่าสิ่งที่คุณธนินท์คิด วางแผน และมอง มันไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ มันเป็นเรื่องวิสัยทัศน์สำหรับทั้งประเทศ ผมบอกคุณธนินท์ว่าอยากให้คนไทยได้ฟัง

แล้วผมจะเล่าสิ่งที่น้อยคนจะรู้ สิ่งสำคัญระดับสากล คุณธนินท์ได้มองไปข้างนอก มองอย่าง Global entrepreneur มองอย่างผู้ประกอบการระดับโลก ความจริงใจ ความทุ่มเท ความเสี่ยงที่คุณธนินท์ว่านี่ ไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะเรื่องกำไร ขาดทุน ความเสี่ยงเรื่องการเมือง ความเสี่ยงเรื่องความมั่นคง ปี 1989 เกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ที่เมืองจีน เติ้งเสี่ยวผิง บริษัทฝรั่งที่ตอนนั้นไปอยู่ในจีนทั้งหมดเลย เรียกว่า 90% ถอยหมดเลย ผมจำได้ว่าคุณธนินท์และเพื่อนผมที่อยู่ในจีนก็เล่าให้ฟัง บอกว่า คุณธนินท์ประชุมแล้วบอกว่าเราต้องอยู่ เพราะธุรกิจมันไม่สำคัญเท่ากับใจ ที่เราบอกเจ้าของบ้านว่า เวลาคุณลำบากที่สุด เราอยู่กับคุณ นั่นเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่า มันไม่อยู่ในตำราไหน…คุณธนินท์ตัดสินว่า ซีพีต้องอยู่ เขายิ่งลำบาก เรายิ่งต้องอยู่ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้แหละที่ชนะใจผู้นำจีนจนถึงทุกวันนี้ เขาถึงมองว่าซีพีนั้นไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจ แต่เป็นเพื่อน เป็นมิตร ช่วงหลังนี้ผมก็ได้รับทราบว่า ซีพีไปรัสเซีย ไปอินเดีย ไปตะวันออกกลาง ไปอีกหลายประเทศ ที่ไปสร้างพื้นฐานทางด้านการเกษตร ทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมา ฉะนั้นตรงนี้ที่สำคัญผมคิดว่าคือใจ ต้องใจถึงจริงๆ…ความสำเร็จของคุณธนินท์ ไม่ใช่แค่มองเห็นโอกาส รู้ว่าอะไรกำไร ขาดทุน รู้ว่าควรเสี่ยง 30% 70% แต่อยู่ที่ลึกๆ แล้วคือใจ ใจของความเป็นนักเลง รู้ว่าอะไรคือเนื้อหาของการทำธุรกิจให้สำเร็จ”

ก่อนจะทิ้งท้ายถามเจ้าสัวธนินท์ว่า “ถ้าความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ความล้มเหลวเสียใจได้กี่วัน” และคำตอบของเจ้าสัวธนินท์ก็คือ ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ให้เวลากับมันวันเดียวก็พอ

เราต้องทำใจ ต้องรู้แพ้รู้ชนะ เราตั้งใจว่าเราสำเร็จเนี่ยดีใจได้วันเดียว ล้มเหลวก็เหมือนกัน เพราะมันล้มเหลวไปแล้ว จะไปกลุ้มใจก็ไม่มีประโยชน์ แต่ต้องไปทบทวนว่าทำไมเราถึงล้มเหลว ให้เป็นบทเรียน เพราะมันไม่มีใครหรอกที่ทำสำเร็จได้ทุกเรื่อง ทำมากเรื่องก็ต้องมีผิดพลาดบ้าง ในโลกนี้ นอกจากเป็นเทวดา หรือไม่ทำก็ไม่ผิด ตอนที่สำเร็จเราก็ต้องทำใจ ว่าถ้าวันนึงล้มเหลว แต่อย่าให้ล้มละลายก็แล้วกัน อย่าตาย ถ้ายังมีชีวิตอยู่ บริษัทที่ขาดทุนไปก็ยังมีโอกาสเอากลับมา เป็นบทเรียน

ล้มเหลว เพื่อจะได้ไม่ล้มเหลวอีก”

ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว, ธนินท์ เจียรวนนท์, เจ้าสัวธนินท์, ซีพี, cp

ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว, ธนินท์ เจียรวนนท์, เจ้าสัวธนินท์, ซีพี, cp

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า